วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ความหมาย ความสำคัญของหน่วยเศรษฐกิจ

มาตรฐานการเรียนรู้ ส 3.1.2
เข้าใจแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการ การเงิน การคลัง การธนาคาร และงบประมาณของหน่วยธุรกิจและของรัฐ

ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
1. รู้และเข้าใจความหมาย ความสำคัญของหน่วยเศรษฐกิจ
2. เข้าใจแนวคิดพื้นฐานของหน่วยธุรกิจและของหน่วยรัฐบาลที่เกี่ยวกับการจัดการ การเงิน การธนาคาร การคลัง และงบประมาณ



สาระการเรียนรู้
1. ความหมายความสำคัญของหน่วยเศรษฐกิจ
- หน่วยครัวเรือน
- หน่วยธุรกิจ
- หน่วยรัฐบาล
2. แนวคิดพื้นฐานของหน่วยธุรกิจและของหน่วยรัฐบาลที่เกี่ยวกับการจัดการ
- การเงิน
- การธนาคาร
- การคลัง
- งบประมาณ
- หนี้สาธารณะ
                                         การเงิน การธนาคาร และการคลัง


หน่วยทางเศรษฐกิจ
         หน่วยเศรษฐกิจ หมายถึง บุคคลหรือองค์กรต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตทางเศรษฐกิจ หน่วยเศรษฐกิจประกอบด้วย 3 กลุ่ม ใหญ่ ๆ แต่ละหน่วยมีองค์ประกอบ หน้าที่ และเป้าหมาย แตกต่างกัน ดังนี้

1. หน่วยครัวเรือน
    หน่วยครัวเรือน หมายถึง หน่วยเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยบุคคลตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไป มีการตัดสินใจในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือปัจจัยทางด้านการเงินเพื่อให้ได้ประโยชน์แก่ตนหรือกลุ่มตนมากที่สุด หน่วยครัวเรือนประกอบด้วย
       1) เจ้าของปัจจัยการผลิต คือ ผู้มีปัจจัยการผลิตชนิดต่าง ๆ ได้แก่ ที่ดิน แรงงาน ทุน และการประกอบการ ซึ่งอาจมีเพียงชนิดเดียวหรือหลายชนิดก็ตาม เจ้าของปัจจัยจะนำปัจจัยการผลิตที่ตนมีอยู่ให้ผู้ผลิตเพื่อไปผลิตเป็นสินค้าและบริการ โดยได้รับค่าตอบแทนในรูปคาเช่า ค่าจ้าง ดอกเบี้ยหรือกำไร เป้าหมายของเจ้าของปัจจัยการผลิต คือรายได้สุทธิสูงสุด
       2) ผู้บริโภค คือ ผู้ใช้ประโยชน์จากสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของเป้าหมายของผู้บริโภค คือ ความพึงพอใจสูงสุด ชิกของหน่วยครัวเรือนอาจทำหน้าที่ทั้งเจ้าของปัจจัยการผลิต และเป็นผู้บริโภคไปพร้อม ๆ กัน อย่างไรก็ตามหน้าที่ของหน่วยครัวเรือนจะต้องพยายามหารายได้มาไว้สำหรับจับจ่ายใช้สอย ส่วนแหล่งที่มาของรายได้ขึ้นอยู่กับลักษณะของกิจกรรม
2. หน่วยธุรกิจ
       หน่วยธุรกิจ หมายถึง บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ทำหน้าที่เอาปัจจัยการผลิตต่าง ๆ มาผสมผสานผลิตเป็นสินค้าหรือบริการแล้วนำไปขายให้แก่ผู้บริโภค หน่วยธุรกิจประกอบด้วยสมาชิก 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ผู้ผลิตและผู้ขาย ซึ่งหน่วยธุรกิจบางหน่วย ทำหน้าที่ทั้งผู้ผลิตและผู้ขาย หรือทำหน้าที่เพียงอย่างเดียว เป้าหมายของผู้ผลิต คือ แสวงหากำไรสูงสุด หรือมีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในธุรกิจนั้น หรือการมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ หรือธุรกิจมีอัตราการเจริญเติบโตอยู่ในอัตราสูงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นต้น

3. หน่วยรัฐบาล
       หน่วยรัฐบาล หมายถึง หน่วยงานของรัฐ หรือส่วนราชการต่าง ๆ ที่จัดตั้งเพื่อดำเนินการของรัฐบาล มีหน้าที่เชื่อมความสัมพันธ์กับหน่วยอื่น ๆ ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งบทบาท หน้าที่ ความสัมพันธ์ดังกล่าวจะมีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับระบบเศรษฐกิจถ้าเป็นระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม บทบาทหน้าที่ของหน่วยรัฐบาลโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจจะมีค่อนข้างจำกัด แต่ถ้าเป็นระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมหรือแบบคอมมิวนิสต์ รัฐบาลจะมีบทบาทค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามบทบาทหน้าที่ของหน่วยรัฐบาล พอสรุปได้ดังนี้
       1) เป็นทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และเจ้าของปัจจัยการผลิตในระบบเศรษฐกิจ
       2) อำนวยความสะดวกในด้านปัจจัยพื้นฐาน เช่น บริการด้านสาธารณูปโภค (บริการไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ ฯลฯ) และสาธารณูปการ (การซ่อม สร้าง บำรุงถนน ฯลฯ) ให้แก่ประชาชน
       3) จัดหารายได้โดยการเก็บภาษีจากประชาชน เพื่อไว้ใช้จ่ายในการบริหารและพัฒนาประเทศ
       4) รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ระงับและตัดสินข้อพิพาทและป้องกันประเทศ

แนวคิดพื้นฐานของหน่วยธุรกิจและของหน่วยรัฐบาลที่เกี่ยวกับการจัดการการเงิน
       เงิน หมายถึง สิ่งที่สังคมยอมรับว่าเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อชำระสินค้าหรือบริการ สินทรัพย์ และหนี้สิน เงินมีคุณสมบัติทำให้ผู้เป็นเจ้าของมีอำนาจในการแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าหรือบริการต่าง ๆ เมื่อต้องการ เงินจึงจัดได้ว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง (liquidity) สูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับสินทรัพย์อื่น
       สภาพคล่อง หมายถึง ความสามารถในการแลกเปลี่ยนเงินเป็นสินทรัพย์อื่น หรือสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และไม่ทำให้เกิดการขาดทุนจากการแลกเปลี่ยน นอกจากนี้เงินยังมีคุณสมบัติทางกายภาพคงทน ไม่สึกหรอ หรือชำรุดได้ง่าย และเงินแต่ละหน่วยต้องมีคุณสมบัติเหมือนหรือเท่ากันทุกประการ

ประเภทของเงิน     เงินแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
       1) เหรียญกษาปณ์ ผลิตโดยกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง
       2) ธนบัตร ผลิตโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
       3) เงินฝากกระแสรายวัน หรือเงินฝากเผือเรียก หรือเงินฝากเดินสะพัด เช่น เช็ค และบัตรเครดิต เป็นต้น ผลิตโดยธนาคารพาณิชย์ทั่วไป สำหรับ พันธบัตร เงินฝากประจำ เงินออมทรัพย์ บัตร เอ.ที.เอ็ม หรือคูปอง ไม่ถือว่าเป็นเงิน เพราะต้องนำไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินก่อนจึงนำมาใช้ได้ เรียกว่า เป็นสิ่งใกล้เคียงเงิน (Near Money)

ความสำคัญของเงิน
       เงินมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบันทั้งทางตรงและทางอ้อม บุคคลทั่วไปให้ความสำคัญกับเงิน เพราะเป็นสิ่งใช้แลกเปลี่ยนกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องการได้ ความสำคัญของเงิน พอสรุปได้ดังนี้
       1) มีความสำคัญสำหรับธุรกิจในด้านการผลิต เนื่องจากเงินเป็นปัจจัยที่สำคัญในการลงทุน และการซื้อปัจจัยการผลิต ดังนั้นราคาของปัจจัยการผลิต และการใช้จ่ายในการผลิตทั้งหมด เงินจะเป็นสิ่งกำหนดราคาสินค้าที่ผลิตว่าควรจำหน่ายในราคาเท่าไร จึงจะได้กำไร และมีทุนหมุนเวียนเพื่อขยายกิจการต่อไป
       2) มีความสำคัญสำหรับธุรกิจในด้านการบริโภค เนื่องจากเงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ดังนั้นผู้บริโภคจึงได้รับความสะดวกในการนำเงินไปแลกเปลี่ยนกับทุกสิ่งที่ต้องการบริโภค เพราะผู้ผลิตจะนำสินค้าออกสู่ตลาด และกำหนดราคาสินค้าหรือบริการเอาไว้ เงินเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ทำให้ระบบการแลกเปลี่ยนมีมาตรฐาน
       3) มีความสำคัญสำหรับชีวิตความเป็นอยู่ของสังคม เงินช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของบุคคลต่าง ๆ ในสังคมดีขึ้น เนื่องจากสินค้าหรือบริการสำหรับอุปโภค บริโภค ถูกกำหนดราคาด้วยเงิน และใช้เงินเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน ดังนั้นบุคคลต่าง ๆ จึงต้องหาเงินมาแลกเปลี่ยน

หน้าที่ของเงิน
       เงินมีความสำคัญในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ และมีความสำคัญต่อระดับอัตราดอกเบี้ย มีผลต่อการลงทุนและการจ้างงาน ดังนั้น หน้าที่ที่สำคัญของเงินจึงสรุปได้ 5 ประการคือ
       1) เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ ซึ่งเป็นหน้าที่พื้นฐานอันดับแรกที่มีความสำคัญ เนื่องจากการหมุนเวียนของเงินจะช่วยกระตุ้นการผลิต การบริโภค และการลงทุนของประเทศช่วยให้ระบบเศรษฐกิจมีการขยายตัว
       2) เป็นมาตรฐานในการวัดมูลค้าสินค้าและบริการ เช่น ไก่ตัวละ 60 บาท เสื้อราคาตัวละ 100 บาท ค่าตัดผมครั้งละ 40 บาท เป็นต้น การวัดค่าเปรียบเทียบค่าของสิ่งต่าง ๆ ทำให้ง่ายและสะดวก ช่วยให้การตัดสินใจซื้อขายทำได้เร็วขึ้น เป็นประโยชน์ในการทำบัญชี เพราะสามารถรวมมูลค่าของสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เนื่องจากใช้หน่วยเดียวกันหมด
       3) เป็นมาตรฐานในการชำระหนี้ในอนาคต การกู้ยืม หรือการแลกเปลี่ยนสินค้ากันโดยตรง อาจมีข้อจำกัดในการชำระหนี้ว่าต้องเป็นสินค้าชนิดเดียวกัน ดังนั้นการชำระหนี้ว่าต้องเป็นสินค้าชนิดเดียวกัน ดังนั้นการชำระหนี้ด้วยเงินจะช่วยอำนวยความสะดวกทั้งแก่ลุกหนี้และเจ้าหนี้ ก่อให้เกิดการใช้จ่ายและการลงทุนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัว เช่น หนี้ที่เกิดจากการกู้ยืม ค่าเช่าที่ดิน ค่าจ้างแรงงาน ที่ต้องจ่ายปลายเดือน ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายปลายปี เป็นต้น
       4) เป็นเครื่องรักษามูลค่า เงินเป้ฯสินทรัพย์ที่คนทั่วไปนิยมสะสมไว้เป็นสมบัติ เพราะมีสภาพคล่องสูงสุด สามารถใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการได้ทันที จึงไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้าไว้ เนื่องจากสินค้าอาจมีสภาพเสื่อมคุณภาพลงได้ จึงนิยมขายสินค้านั้นไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินมาเก็บไว้แทน และสามารถสะสมไว้จนกว่าจะถึงเวลาที่ต้องการใช้เงินเพื่อซื้อสินค้าอื่นที่ต้องการ
       5) เป็นตัวแปรที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจ ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดระดับสินค้า อัตราดอกเบี้ย การลงทุน รายได้ประชาชาติ และการจ้างงานของประเทศ กล่าวคือ ถ้าปริมาณเงินมาก ระดับราคาสินค้าจะสูงขึ้น หรือปริมาณเงินมีอิทธิพลต่ออัตราดอกเบี้ย และอัตราดอกเบี้ยจะเป็นตัวกำหนดการลงทุน ซึ่งมีผลกระทบต่อรายได้ประชาชาติ และการจ้างงาน

       กล่าวโดยสรุป หน้าที่ของเงินในด้านเป็นสื่อกลาง เป็นมาตรฐานวัดมูลค่า เป็นมาตรฐานชำระหนี้ และเป็นเครื่องรักษามูลค่านั้น เป็นหน้าที่ช่วยให้การดำเนินการของระบบเศรษฐกิจเป็นได้ด้วยดี สนองความต้องการของผู้ต้องการถือเงิน และชุมชนกลุ่มต่าง ๆ ส่วนหน้าที่เป็นตัวแปรในระบบเศรษฐกิจนั้นสนองความต้องการของรัฐบาล หรือธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้เงินทำหน้าที่ควบคุมหรือกำหนดทิศทาง ตลอดจนแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ

มูลค่าของเงิน
       มูลค่าของเงิน หมายถึง อำนาจในการซื้อสินค้าและบริการ หรืออำนาจในการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ค่าของเงินจึงแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะคือ
       ค่าของเงินภายใน หมายถึง อำนาจซื้อสินค้าหรือบริการของเงินแต่ละหน่วย ซึ่งพิจารณาได้จากดัชนีราคาสินค้า กล่าวคือ ถ้าราคาสินค้าสูงขึ้นแสดงว่า ค่าของเงินลดลง ถ้าราคาสินค้าลดลง แสดงว่า ค่าของเงินเพิ่มขึ้น ค่าของเงินจึงเปลี่ยนแปลงในทิศทางตรงกันข้าม (ผกผัน) กับราคาสินค้าเสมอ
       ค่าของเงินภายนอก หมายถึง อำนาจในการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ หรือราคาของเงินตราสกุลหนึ่ง เมื่อคิดเป็นราคาของเงินตราสกุลอื่น ซึ่งเป็นอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เช่น เดิมเงิน 1 ดอลลาร์เท่ากับ 25 บาท ต่อมา เงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 39 บาท แสดงว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้น แต่ค่าเงินบาทลดลง เป็นต้น กล่าวโดยสรุป การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ถ้าต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น แสดงว่า ค่าเงินลดลงหรือเงินอ่อนตัว แต่ถ้าจ่ายเงินน้อยลงจากเดิม แสดงว่าค่าเงินเพิ่มขึ้น หรือค่าเงินแข็งตัว

ปริมาณเงิน
       ปริมาณเงิน หมายถึง เงินที่หมุนในมือประชาชน เอกชน บริษัทต่าง ๆ ในขณะใดขณะหนึ่ง โดยไม่นับเงินที่อยู่ในมือของรัฐบาล องค์ประกอบของปริมาณเงินที่สำคัญ จึงประกอบด้วย ธนบัตร เหรียญกษาปณ์ เงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ และเงินฝากประจำ ปริมาณเงินที่หมุนเวียนในมือประชาชนจะมีผลต่ออำนาจการซื้อสินค้าและบริการของประชาชน กล่าวคือ ถ้าปริมาณเงินที่หมุนเวียนอยู่ในมือประชาชนมาก ทำให้อำนาจซื้อของประชาชนมีมากขึ้นด้วย ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น ค่าของเงินลดลง เรียกว่า ภาวะเงินเฟ้อ แต่ถ้าปริมาณเงินที่หมุนเวียนอยู่ในมือประชาชนน้อย ทำให้อำนาจซื้อของประชาชนมีน้อยลงด้วย ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการลดลง ค่าของเงินเพิ่มขึ้น เรียกว่า ภาวะเงินฝืด

ภาวะเงินเฟ้อ
       เงินเฟ้อ หมายถึง ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการในตลาดสูง ค่าของเงินลดลง ปริมาณเงินอยู่ในมือประชาชนมากเกินไป

สาเหตุของเงินเฟ้อ เงินเฟ้อเกิดจากสาเหตุหลายประการ พอสรุปได้ดังนี้
       1) เกิดจากอุปสงค์มวลรวมเพิ่มขึ้น คือ ภาวะที่ปริมาณความต้องการในการซื้อสินค้าหรือบริการมีมากกว่าปริมาณความต้องการในการขายสินค้าหรือบริการทำให้ปริมาณสินค้าและบริการในตลาดขาดแคลนไม่เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นเหตุให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ
       2) เกิดจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เนื่องจากระดับราคาวัตถุดิบที่นำมาใช้เป็นปัจจัยการผลิตมีราคาสูงขึ้น หรืออัตราค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เป็นเหตุให้ราคาสินค้าสูงตามไปด้วย

ผลกระทบของเงินเฟ้อ
       เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น ราคาสินค้าหรือบริการเพิ่มขึ้น การใช้จ่ายในสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้น เพราะกลัวราคาสินค้าจะแพงขึ้นอีกส่งผลให้เกิดการขาดแคลนสินค้า ทำให้ราคาสินค้ายิ่งสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ภาวะเงินเฟ้อจะเกิดผลดีหรือผลเสียต่อบุคคลแต่ละกลุ่ม ดังนี้
       1) ผลดีต่อพ่อค้า นักธุรกิจ เพราะขายสินค้าหรือบริการได้ราคาสูงขึ้น และส่งผลดีต่อลูกหนี้ เพราะเงินที่เป็นหนี้มีอำนาจซื้อลดลง ระดับราคาสินค้าสูงขึ้น จำนวนเงินเท่าเดิมซื้อของได้น้อยลง เท่ากับลูกหนี้ใช้หนี้น้อยลง แม้นว่าจำนวนเงินที่ชำระจะยังคงเท่าเดิม นอกจากนี้ภาวะเงินเฟ้อจะเกิดผลดีต่อกลุ่มบุคคลที่มีรายได้จากการเปลี่ยนแปลงตามภาวะเศรษฐกิจ เพราะสามารถเรียกค่าบริการ หรือตั้งราคาสินค้าได้ตามต้องการ เช่น แพทย์ ช่างตัดผม ช่างตัดเสื้อ เป็นต้น
       2) ผลเสีย ต่อผู้มีรายได้ประจำ เพราะรายได้เท่าเดิม แต่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ทำให้รายจ่ายเพิ่มขึ้นด้วย เจ้าหนี้ และผู้มีเงินออมจะเสียเปรียบ เพราะมูลค่าของเงินลดลง เช่น สมชายมีเงินฝากธนาคารหนึ่งแสนบาทในภาวะเงินเฟ้อ เงินหนึ่งแสนที่สมชายมีอยู่ จะมีค่าของเงินลดลงเพราะเงินเท่าเดิม แต่จะซื้อสินค้าได้น้อยลง หรือถ้าต้องการสินค้าเท่าเดิม ต้องจ่ายเป็นเงินเพิ่มขึ้น เป็นต้น

แนวทางแก้ปัญหาภาวะเงินเฟ้อ
       เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อระดับราคาสินค้าสูงขึ้นจะทำให้ประชาชนโดยทั่วไปเดือดร้อน ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงกำหนดแนวทางแก้ไข ดังนี้
       1) ใช้นโยบายทางการเงิน แนวทางในการดำเนินนโยบายการเงินโดยเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และเงินกู้เพื่อลดปริมาณเงินในมือประชาชนให้น้อยลง ทำให้ปริมาณความต้องการในการซื้อสินค้า ของผู้บริโภคลดลงนอกจากนี้ยังเพิ่มการขายพันธบัตรรัฐบาลให้ธนาคารพาณิชย์และประชาชนมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ลดการรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลคืนจากประชาชนและลดการขยายเครดิตหรือปล่อยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์
       2) นโยบายการคลัง แนวทางในการดำเนินนโยบายการคลัง โดยเพิ่มการเก็บภาษีจากประชาชน ใช้งบประมาณแบบเกินดุล คือ ลดรายจ่ายภาครัฐให้น้อยลง แต่เพิ่มรายได้ของรัฐบาลโดยการเก็บภาษีให้มากขึ้น เพื่อลดปริมาณเงินในมือประชาชนให้น้อยลง

ภาวะเงินฝืด
       เงินฝืด หมายถึง ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการในตลาดลดลง ค่าของเงินเพิ่มขึ้น ปริมาณเงินอยู่ในมือประชาชนน้อยเกินไป

สาเหตุของเงินฝืด เงินฝืดจะเกิดจากสาเหตุ ต่าง ๆ ดังนี้
       1) เกิดจากปริมาณความต้องการในการซื้อสินค้าหรือบริการมีน้อยกว่าปริมาณความต้องการในการขายสินค้าหรือบริการ ทำให้สินค้าเหลือเกินความต้องการ ราคาสินค้าลดลง
       2) เกิดจากรัฐบาลเก็บภาษีมากเกินไป ทำให้ปริมาณเงินที่ประชาชนจะซื้อสินค้าน้อยลง
       3) ประชาชนเก็บเงินไว้กับตัวมากเกินไป ทำให้การบริโภคมวลรวมลดลง
       4) มีการส่งเงินตราออกไปต่างประเทศมากเกินไป ทำให้ปริมาณเงินหมุนเวียนในประเทศมีน้อย

ผลกระทบของเงินฝืด

เงินฝืดทำให้ ผู้ผลิตขาดทุน การค้าซบเซา การผลิตเลิกกิจการ ลูกจ้างแรงงานตกงาน เกิดปัญหาว่างงาน เศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลมาสามารเก็บภาษีจากผู้มีรายได้และผู้ผลิตได้ตามเป้าหมาย ในขณะเดียวกันรัฐบาลต้องแบกภาระในการแก้ปัญหาคนว่างงานและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อย่างไรก็ดีภาวะเงินฝืดจะเป็นผลดีและผลเสียต่อบุคคลในกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้
       1) ผลดีต่อผู้มีรายได้ประจำ เพราะซื้อสินค้าหรือบริการได้ในราคาลดลง ส่วนเจ้าหนี้ และผู้มีเงินออมจะได้เปรียบ เนื่องจากราคาสินค้าลดลง ค่าของเงินเพิ่มขึ้น ทำให้อำนาจซื้อจะเพิ่มขึ้น
       2) ผลเสียต่อผู้ผลิตจะได้รับผลกระทบ เพราะราคาสินค้าลดลง อาจต้องประสบปัญหาขาดทุน นอกจากนี้ ลูกหนี้ และนายธนาคาร จะเกิดความเสียเปรียบในด้านค่าของเงิน

แนวทางแก้ไขภาวะเงินฝืด
เมื่อเกิดภาวะเงินฝืด การผลิตลดลง เกิดปัญหาว่างงาน เศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงกำหนดแนวทางแก้ไข ดังนี้
       1) ใช้นโยบายทางการเงิน
แนวทางในการดำเนินนโยบายการเงินโดยลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เพื่อเพิ่มปริมาณเงินในมือประชาชนให้มากขึ้น ทำให้ปริมาณความต้องการในการซื้อสินค้าของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังลดการขายพันธบัตรรัฐบาลให้ธนาคารพาณิชย์และประชาชน แต่ขณะเดียวกันก็เพิ่มการรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลคืนจากประชาชนให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มอำนาจซื้อของประชาชนให้สูงขึ้นตลอดจนเพิ่มการขยายเครดิตหรือปล่อยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ไปยังกลุ่มผู้ประกอบการ หรือผู้ผลิต เพื่อช่วยให้การผลิตดำรงอยู่ได้
       2) ใช้นโยบายการคลัง
แนวทางการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อแก้ปัญหาเงินฝืด โดยรัฐบาลรัฐบาลใช้งบประมาณแบบขาดดุล คือเพิ่มรายจ่ายภาครัฐให้มากขึ้น และลดรายได้ภาครัฐให้น้อยลง เพื่อทำให้ปริมาณเงินในมือประชาชนเพิ่มขึ้น
การธนาคาร
       ธนาคาร หรือสถาบันการเงิน เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นแหล่งที่ช่วยระดมเงินออมจากเอกชน ธุรกิจและรัฐบาล เพื่อนำไปบริการเงินกู้แก่เอกชน ธุรกิจ หรือรัฐบาลที่มีความต้องการเงินทุนไปลงทุน
       สถาบันการเงิน หมายถึง สถาบันธุรกิจที่ทำหน้าที่ระดมเงินออกจากประชาชน มาให้ผู้ที่ต้องการกู้ยืมเพื่อบริโภค การลงทุน หรือการประกอบธุรกิจต่าง ๆ และรับภาระการเสี่ยงจากการให้กู้นั้นแทน โดยอาศัยเครื่องมือเครื่องมือหรือตราสารทางการเงิน สถาบันการเงินจึงทำหน้าที่เสมือนตัวกลางระหว่างผู้ออม และผู้ลงทุนโดยมีกฎหมายให้การคุ้มครองจึงช่วยลดการเอาเปรียบจากเจ้าหนี้และสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารพาณิชย์ช่วยเหลือผู้กู้เงินเพื่อการลงทุน โดยให้คำแนะนำเกี่ยวกับช่องทางการลงทุนในกิจการต่าง ๆ เพื่อให้ผู้กู้สามารถตัดสินใจในการลงทุนได้ดียิ่งขึ้น

สถาบันการเงินที่สำคัญของประเทศไทย
       ประเทศไทยแบ่งประเภทของสถาบันการเงิน เป็น 2 ประเภท คือ สถาบันการเงินประเภทธนาคาร และสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคาร พอสรุปได้ดังนี้
       1) สถาบันการเงินประเภทธนาคาร เช่น ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น
       2) สถาบันการเงินประเภทมิใช่ธนาคาร เช่น กิจการประกันภัย สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ออมทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ และโรงรับจำนำ เป็นต้น

1. สถาบันการเงินประเภทธนาคาร
       1) ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธนาคารกลาง เป็นสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อ วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2485 มีฐานะเป็นองค์การอิสระอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีลักษณะสำคัญ คือ ไม่แสวงหากำไรจากการประกอบการและไม่ทำธุรกิจโดยตรงกับประชาชน จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดังนี้
          - จัดพิมพ์ธนบัตรและนำออกใช้เป็นเงินตรา
          - รักษาเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ
          - ควบคุมการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์
          - เป็นนายธนาคารของรัฐบาล กล่าวคือ ให้ความคิดเห็นแก่รัฐบาลในด้านการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ รักษาบัญชีเงินฝากของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐบาล ให้รัฐวิสาหกิจและรัฐบาลกู้ยืมเงิน ตลอดจน เป็นตัวแทนทางการเงินของรัฐบาลทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ติดต่อหาแหล่งเงินกู้ให้รัฐบาล เป็นตัวแทนขายพันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น
          - เป็นแหล่งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารทางเศรษฐกิจและการเงินทั้งในและประเทศและต่างประเทศ
          - ควบคุมปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
          - ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
          - ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ
       2) ธนาคารพาณิชย์
       ธนาคารพาณิชย์นับเป็นสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สามารถระดมเงินออมจากประชาชนได้มากที่สุด เพราะมีปริมาณเงินฝากและจำนวนเงินให้กู้สูงสุด เมื่อเทียบกับสถาบันการเงิน อื่น ๆ ทำหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์ มีดังนี้
          - รับฝากเงินจากประชาชน มีทั้งเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ และเงินฝากกระแสรายวัน โดยเงินฝากแต่ละประเภทจะมีอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน
          - การให้กู้ยืมเงิน เพื่อการบริโภคหรือการลงทุนตลอดจนนำเงินออมที่มีผู้นำมาฝากไปลงทุนในหลักทรัพย์ เพื่อให้เกิดผลตอบแทน
          - การให้บริการอื่น ๆ เช่น การโอนเงิน การซื้อขายเงินตราต่างประเทศ การให้เช่าตู้นิรภัย การรับชำระค่าบริการต่าง ๆ เป็นต้น
       3) ธนาคารพิเศษ หรือธนาคารที่จัดตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เฉพาะอย่าง ประกอบด้วยธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารอาคารสงเคราะห์
1. ธนาคารออมสิน เป็นสถาบันการเงินของรัฐ ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการระดมเงินออมจากประชาชนสู่รัฐบาล เพื่อให้หน่วยงานของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจกู้ไปใช้เป็นเงินทุนพัฒนาประเทศ ปัจจุบันธนาคารออมสินดำเนินงานตามพระราชบัญญัติออมสิน พ.ศ. 2489 ให้บริการแก่ประชาชนทั้งทางด้านการธนาคารและการออกสิน ดังนี้
       ด้านการธนาคาร มีการรับฝากและให้บริการ 4 ประเภท คือ รับฝากเงินกระแสรายวัน รับฝากเงินประจำ จำหน่ายตั๋วแลกเงินเพื่อเดินทางภายในประเทศ และให้ผู้เช่าตู้นิรภัย
       ด้านการออมสิน มีการรับฝากเงินรวม 8 ประเภท คือ รับฝากเผื่อเรียกและฝากประจำ ออกฉลากออมสินพิเศษ ออกพันธบัตรออมสิน รับฝากประเภทรับจ่ายและโอนเงิน รับฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัว รับฝากประเภทชีวิตและการศึกษา รับฝากประเภทสงเคราะห์ทวีคูณ และรับฝากประเภทเคหะสงเคราะห์
       เงินทุนที่ระดมได้ของธนาคารออมสินจะนำเงินรับฝากส่วนใหญ่ไปลงทุนซื้อตั๋วเงินคลังและพันธบัตรรัฐบาล ตลอดจนให้กู้แก่เอกชนเพื่อการลงทุน

2. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2509 เป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง การดำเนินงานของธนาคารที่สำคัญ คือ การให้เงินกู้และรับประกันกู้แก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์การเกษตร นอกจากนี้ยังมีโครงการพิเศษ อื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล เช่น โครงการเงินกู้เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกและผลผลิตทางการเกษตร โครงการปลดเปลื้องหนี้สินเกษตรกร โครงการเงินกู้ระดับปานกลางพิเศษ เป็นต้น
3. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2496 โดยมีรัฐบาลเป็นเจ้าของอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง มีวัตถุประสงค์ คือ การให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน ที่มีฐานะปานกลางให้สามารถมรบ้านที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินกล่าวคือ ให้กู้ในระยะยาว ดอกเบี้ยต่ำ

2. สถาบันการเงินประเภทมิใช่ธนาคาร
       1) บริษัทเงินทุนและบริษัทหลักทรัพย์ เริ่มดำเนินการในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 แล้วขยายตัวอย่างรวดเร็ว บริษัทเงินทุน ทำหน้าที่ประกอบกิจการกู้ยืมหรือรับเงินจากประชาชน แล้วนำไปใช้ในกิจการต่าง ๆ เช่น ให้กู้ยืมเงินระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี ซึ่งเรียกว่า ธุรกิจเงินทุนเพื่อการพาณิชย์ ให้กู้ยืมเงินระยะเกิน 1 ปีขึ้นไป ซึ่งเรียกว่า ธุรกิจเพื่อการพัฒนา ให้กู้ยืมแก่ผู้ประกอบกิจการให้เช่าซื้อหรือให้ประชาชนเช่าซื้อซึ่งเรียกว่า ธุรกิจเงินทุนเพื่อการจำหน่ายและการบริโภค และให้กู้ยืมแก่ประชาชนหรือผู้ประกอบกิจการอันเกี่ยวกับการจัดหาที่ดินและบ้านที่อยู่อาศัยโดยให้ประชาชนเช่าซื้อ ซึ่งเรียกว่า ธุรกิจเงินทุนเพื่อการเคหะ เป็นต้น ส่วนบริษัทหลักทรัพย์ ทำหน้าที่ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภท ได้แก่ กิจการนายหน้าซื้อขายแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ กิจการค้าหลัก กิจการที่ปรึกษาการลงทุน กิจการการจำหน่ายหลักทรัพย์ กิจการจัดการลงทุน
       คำว่า หลักทรัพย์ (Securities) หมายถึง ตราสารหรือเอกสารการแสดงสิทธิในหนี้หรือทรัพย์สินที่ซื้อขายกัน เช่น หุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร ตั๋วเงิน เป็นต้น
       2) บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
       จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2502 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะจัดหาทุนเพื่อให้กู้ระยะยาวแก่กิจการอุตสาหกรรม เพื่อสร้างสินทรัพย์ถาวร เช่น สร้างโรงงาน เครื่องมือ เครื่องจักร เป็นต้น นอกจากนี้บรรษัทฯ ยังรับประกันเงินกู้ให้กับลูกค้าที่สามารถกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินทั้งภายในและนอกประเทศ เพื่อส่งเสริมพัฒนากิจการอุตสาหกรรมอีกด้วย
       บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยดำเนินการในรูปบริษัทจำกัด มีธนาคารพาณิชย์สถาบันการเงินต่าง ๆ บริษัทห้างร้าน และประชาชนทั่วไปเป็นผู้ถือหุ้น รัฐบาลให้ความช่วยเหลือทางด้านเงินกู้ และส่งผู้แทนเข้าร่วมเป็นคระกรรมการของบริษัทด้วย
       3) บริษัทประกันชีวิตและประกันภัย เป็นสถาบันการเงินอีกแบบหนึ่งที่ส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักประหยัดสร้างความมั่นคงแก่กิจการและครอบครัวของตน ดำเนินการรับประกันภัยให้แก่ผู้อื่นโดยได้รับเบี้ยประกันตอบแทน และบริษัทผู้รับประกันจะต้องเสียค่าสินไหมให้แก่ผู้เอาประกันเมื่อได้รับความเสียหาย และจะต้องคืนเบี้ยประกันให้เมื่อหมดกำหนดอายุสัญยาประกันภัย การประกันที่นิยมแพร่หลาย อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
       1. การประกันชีวิต เป็นการประกันความตายที่ทุกคนต้องประสบ แต่เมื่อได้ประกันชีวิตไว้โดยเสียค่าประกันที่ตกลงกันไว้ หากผู้ประกันชีวิตเสียชีวิตลง ทายาทก็จะได้รับเงินจำนวนหนึ่ง หรือถ้าครบกำหนดแล้วผู้เอาประกันยังมีชีวิตอยู่ บริษัทผู้รับประกันก็จะคืนเงินให้ตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน
       2. การประกันวินาศภัย เป็นการประกันภัยอันอาจจะพึงเกิดแก่ทรัพย์สิน เมื่อผู้เอาประกันได้รับความเสียหาย บริษัทผู้ประกันวินาศภัยจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ตามจำนวนที่ตกลงกันไว้แก่ผู้เอาประกัน
      4) สหกรณ์การเกษตร เป็นสถาบันการเงินที่ตั้งขึ้นเพื่อให้แกษตรกรร่วมมือกันช่วยเหลือในการประกอบอาชีพของเกษตร และให้เกษตรกรกู้เงินสหกรณ์การเกษตร ส่วนใหญ่จึงตั้งอยู่ในชนบท และมีผู้บริหารเป็นข้าราชการดำเนินกิจการตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511
      5) สหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นสถาบันการเงินที่รับฝากเงินจากสมาชิกและให้สมาชิกกู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย และนำกำไรที่ได้รับจากการดำเนินงานมาแบ่งปันให้สมาชิกตามมูลค่าหุ้นที่ถือและตามมูลค่าดอกเบี้ยเงินกู้ เงินทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์ส่วนใหญ่ได้จากเงินค่าหุ้นของสมาชิก ซึ่งผ่อนชำระเป็นรายเดือนจนกว่าจะครบมูลค่าหุ้นที่มีสิทธิถือได้ แล้วนำเงินทุนให้สมาชิกกู้ยืมเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ กัน เช่น เพื่อเหตุฉุกเฉิน เพื่อการอุปโภคบริโภค สหกรณ์ที่มีเงินทุนมากก็อาจให้สมาชิกกู้ยืมระยะยาว เพื่อจัดหาที่อยู่อาศัยด้วย
       6) บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (Credit Foncier Companies) เป็นบริษัทที่ดำเนินกิจการระดมทุนด้วยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินเสนอขายต่อประชาชนทั่วไป เพื่อนำมาให้ประชาชนกู้ไปซื้อที่ดินและสร้างที่อยู่อาศัย
       7) โรงรับจำนำ เป็นสถาบันการเงินขนาดเล็กที่พบเห็นได้ทั่วไปตามแหล่งชุมชน ทำหน้าที่ให้กู้ยืมเงินแก่ประชาชนทั่วไป โดยการรับจำนำสิ่งของและเครื่องใช้ต่าง ๆ ทั้งของใหม่และของที่ใช้แล้ว โรงรับจำนำมีอยู่ 3 ประเภทตามลักษณะของผู้ดำเนินงานคือ โรงรับจำนำที่ดำเนินการโดยเอกชน โรงรับจำนำที่ดำเนินการโดยกรมประชาสงเคราะห์ รียกว่า สถานธนานุเคราะห์ และโรงรับจำนำที่ดำเนินการโดยเทศบาล เรียกว่า สถานธนานุบาล
       การธนาคารหรือสถาบันการเงินที่กล่าวมาข้างต้นนี้ นักเรียนจะเห็นว่าเป็นสถาบันการเงินที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการเงิน กล่าวคือ ทำหน้าที่เป็นแหล่งระดมเงินทุน จากประชาชน แล้วนำมาให้ผู้ลงทุนกู้ยืมไปเพื่อการบริโภคหรือเพื่อการลงทุน สถาบันการเงินที่ทำหน้าที่เสมือนตัวกลางระหว่างผู้ออมและผู้ลงทุนโดยมีกฎหมายให้ความคุ้มครอง จึงช่วยลดการเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าหนี้และสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารพาณิชย์ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเหล่านี้ยังช่วยเหลือผู้กู้เงินโดยให้คำแนะนำเกี่ยวกับช่องทางการลงทุนในกิจการต่าง ๆ เพื่อให้ผู้กู้เงินสามารตัดสินใจในการลงทุนได้ดียิ่งขึ้น
การคลัง
          การคลัง หมายถึง การใช้จ่ายเพื่อการบริหารประเทศของรัฐบาล โดยกำหนดนโยบายและการดำเนินงานทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับรายรับ รายข่าย หนี้สาธารณะ ซึ่งในแต่ละปีรัฐบาลจะต้องจัดทำเป็นงบประมาณแผ่นดินประจำปี เพื่อแสดงให้ประชาชนรู้ว่าในปีต่อไปรัฐบาลมีโครงการจะทำอะไรบ้าง แต่ละโครงการต้องใช้จ่ายเป็นจำนวนเงินเท่าใด และรัฐบาลจะหารายได้จากทางใดมาใช้จ่ายตามโครงการนั้น ๆ ดังนั้นงบประมาณแผ่นดินจึงเป็นแผนเกี่ยวกับการหารายได้และการใช้จ่ายตามโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล
ความแตกต่างระหว่างภาคเอกชนกับรัฐบาล
บทบาทระหว่างเอกชนกับรัฐบาล มีความแตกต่าง พอสรุปได้ดังนี้
       1) ด้านวัตถุประสงค์และจุดมุ่งหมาย การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจภาครัฐบาลมุ่งเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน เช่น การจัดให้มีบริการสาธารณสุข สาธารณูปโภค การรักษาความสงบภายใน การป้องกันประเทศ เป็นต้น การใช้จ่ายเพื่อกิจกรรมของภาครัฐบาลส่วนใหญ่ได้มาจากค่าภาษีอากร และใช้จ่ายไปโดยมิได้แสวงหากำไร ส่วนการดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจของภาคเอกชนส่วนใหญ่มุ่งเพื่อแสวงหากำไรสูงสุด และประโยชน์ส่วนตนเป็นสำคัญ
       2) ด้านการวางแผนดำเนินกิจกรรม ในการวางแผนรัฐบาลมีรายจ่ายเป็นเครื่องกำหนดรายได้ กล่าวคือ การดำเนินกิจกรรมของดภาครัฐบาลมักเริ่มด้วยการวางแผนตั้งโครงการพร้อมด้วยประมาณรายจ่ายในแต่ละโครงการแล้วจึงประมาณการรายได้ที่คาดว่าจะได้รับ หากไม่เพียงพอกับการใช้จ่าย ก็อาจก่อหนี้สาธารณะมาชดเชย แต่ภาคเอกชนมีรายได้เป็นเครื่องกำหนดรายจ่าย กล่าวคือ ภาคเอกชนจะพิจารณารายได้ที่คาดว่าจะได้รับก่อนแล้วจึงวางแผนดำเนินการใช้จ่ายออกไป
       3) ด้านการตัดสินใจดำเนินกิจกรรม การตัดสินใจดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจภาครัฐบาลจะมีขั้นตอนซับซ้อน ผ่านการพิจารณาตัดสินของหลายฝ่าย แต่ภาคเอกชนมีขั้นตอนน้อยกว่า ตัดสินใจได้ด้วยตนเองโดยผู้ถือหุ้นหรือคณะกรรมการไม่กี่คน การตัดสินใจดำเนินกิจกรรมของภาคเอกชนจึงสามารถดำเนินการได้รวดเร็วกว่ารัฐบาล
       4) ด้านระยะเวลาของโครงการ กิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาครัฐบาลมักเป็นโครงการที่ให้ผลตอบแทนในระยะยาว ใช้งบประมาณจำนวนมาก ส่วนภาคเอกชนใช้เงินทุนน้อยกว่า และมักให้ผลตอบแทนในระยะสั้น เพื่อนำรายได้นั้นเป็นทุนหมุนเวียนในกิจกรรมต่อไป
       จะเห็นได้ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะมีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์ซึ่งกันและกันตลอดเวลา การดำเนินการของภาครัฐบาลย่อมมีผลกระทบต่อภาคเอกชนทั้งทางตรงและทางอ้อม สำหรับเศรษฐกิจภาคเอกชน ก็จะมีผลต่อรายได้ของภาครัฐบาล
ความสำคัญของการคลัง
       การคลังมีความสำคัญในการดำเนินงานของรัฐบาล เพราะรัฐบาลจะใช้นโยบายการคลัง ควบคุมภาวะเศรษฐกิจของประเทศด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
       1) การจัดสรรการใช้ทรัพยากรของสังคม มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ทรัพยากรของสังคมในการผลิตสินค้าและบริการให้เกิดประโยชน์เต็มที่อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การป้องกันประเทศ การบริการการแพทย์ พยาบาล ตำรวจ ตลอดจนรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยการใช้นโยบายงบประมาณที่กำหนดไว้
2) การกระจายรายได้ของสังคม เพื่อให้สินค้าและบริการต่าง ๆ ที่ผลิตขึ้นมา ได้รับการจัดสรร จำแนก แจกจ่ายได้ทั่วถึง และเป็นธรรม ซึ่งรัฐบาลสามารถได้มาตรการทางด้านภาษีเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการดำเนินการ
3) การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคม โดยรัฐบาลจะควบคุมดูแลให้เศรษฐกิจของสังคม เป็นไปด้วยความราบรื่นด้วยการรักษาระดับการจ้างให้อยู่ในอัตราสูง ระดับราคาสินค้าเสถียรภาพ รวมทั้งมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
       กล่าวโดยสรุป การคลังจึงมีความสำคัญมากในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล เพราะรัฐบาลจะใช้นโยบายการคลังเป็นเครื่องมือในการควบคุม ดูแล ตลอดจนแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศคงไว้ซึ่งความมีเสถียรภาพ
งบประมาณแผ่นดิน
       งบประมาณแผ่นดิน หมายถึง แผนการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล ซึ่งแสดงวัตถุประสงค์ แหล่งที่มาของรายรับรายจ่ายของรัฐบาลในระยะเวลาหนึ่ง โดยปกติถือเอาระยะเวลา 1 ปี คือ เริ่มจาก 1 ตุลาคม ไปสิ้นสุดที่ 30 กันยายนของปีถัดไป
       สำนักงบประมาณเป็นหน่วยราชการที่รับผิดชอบจัดทำงบประมาณประจำปี โดยจะรวบรวมโครงการและรายจ่ายด้านต่าง ๆ ของหน่วยราชการทุกหน่วยงานรวมทั้งภาครัฐวิสาหกิจทั้งหมด เพื่อนำเสนอขออนุมัติจากรัฐสภา และประกาศใช้ต่อไป
ลักษณะของงบประมาณ
       งบประมาณของรัฐบาลมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ทั้งด้านรายรับและรายจ่าย ผลกระทบจะมากน้อยและอยู่ในลักษณะใดขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งบประมาณของรัฐบาล ซึ่งมี3 ลักษณะ คือ
       1) งบประมาณสมดุล หมายถึง การที่รัฐบาลมีการใช้จ่ายเท่ากับรายได้พอดี งบประมาณสมดุลจะมีข้อขำกัด ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เกิดภาวะเงินฝืด อัตราการว่างงานสูง การดำเนินนโยบายงบประมาณสมดุลจะไม่ช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ เพราะการใช้จ่ายของรัฐบาลถูกกำหนดโดยรายได้ ดังนั้นนโยบายงบประมาณสมดุล จึงเป็นนโยบายที่ไม่ยืดหยุ่นไม่สามารถปรับได้คล่องตัวเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้
       2) งบประมาณขาดดุล หมายถึง การที่รัฐบาลมีการใช้จ่ายมากกว่ารายได้ และจำเป็นต้องนำรายรับจากเงินกู้หรือเงินคงคลังมาชดเชยการขาดดุล ปัจจุบันนักเศรษฐศาสตร์มีแนวคิดว่า การที่รายจ่ายสูงกกว่ารายได้ และรัฐบาลก่อหนี้สาธารณะมาใช้จ่ายนั้นไม่ใช้สิ่งที่เสียหาย ถ้าเงินที่กู้มาถูกใช้ในทิศทางเพื่อการเพิ่มผลผลิต การเพิ่มการลงทุน และการจ้างงาน
       3) งบประมาณเกินดุล หมายถึง การที่รัฐบาลใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้ที่จัดเก็บได้ ทำให้มีเงินเหลือเข้าเป็นเงินคงคลังเพิ่มขึ้น
หนี้สาธารณะ
      ในประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มที่งบประมาณของรัฐบาลจะขาดดุบ เนื่องจากระดับรายได้ของประชาชนต่ำ มีการหลีกเลี่ยงภาษีอากร จึงมีผลให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีอากรได้น้อย ในขณะเดียวกันรัฐบาลพยายามเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจ โดยการปรับโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้รายจ่ายด้านสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลจึงจำเป็นต้องก่อหนี้สาธารณะ หนี้สาธารณะอาจจำแนกตามแหล่งเงินกู้ได้ดังนี้
1. หนี้ภายในประเทศ
หนี้ภายในประเทศ หมายถึง หนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้ภายในประเทศ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารพาณิชย์ สถาบันทางการเงินประเภทต่าง ๆ และประชาชนทั่วไป วิธีการก่อหนี้สาธารณะภายในประเทศนั้น รัฐบาลจะจำหน่ายพันธบัตรซึ่งเป็นเงินกู้ระยะยาว หรือจำหน่ายตั๋วคลังซึ่งเป็นการกู้ระยะสั้น
2. หนี้ต่างประเทศ
หนี้ต่างประเทศ หมายถึง หนี้สาธารณะที่เกิดจากรัฐบาลกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้ภายนอกประเทศ เพื่อนำมาสนับสนุนการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล หรือค้ำประกันเงินก็ของรัฐวิสาหกิจ แหล่งเงินกู้ต่างประเทศที่สำคัญ คือ ธนาคารโลก กองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเลแห่งประเทศญี่ปุ่น ธนาคารพัฒนาเอเชีย และตลาดการเงิน เป็นต้น
      การก่อหนี้สาธารณะอาจเกิดผลดีในด้าน การนำเงินไปใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต จะทำให้อัตราการพัฒนาเศรษฐกิจรวดเร็วยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันจะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ กล่าวคือ ในกรณีหนี้ภายในประเทศ ถ้ารัฐบาลกู้ยืมเงินลงทุนของภาคเอกชน จะเกิดผลกระทบต่ออุปสงค์รวม ทำให้ระดับรายได้ประชาชาติและการว่าจ้างทำงานลดลง ส่วนหนี้ต่างประเทศจะส่งผลกระทบต่อเงินที่ไหลออกนอกประเทศ เนื่องจากการชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยเงินกู้แก่ต่างประเทศ
      กล่าวโดยสรุป รัฐบาลต้องใช้จ่ายรายได้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และมีประสิทธิภาพสูงสุดในการแจกจ่ายรายได้ ต้องมีการวางแผน และดำเนินการอย่างเป็นระบบ ดังนั้นจึงมีการทำแผนการใช้จ่ายงบประมาณจากหน่วยงานที่มีความจำเป็นและต้องการรายได้เพื่อนำไปใช้จ่ายตามแผนของรัฐบาลที่วางไว้

                                                    แบบทดสอบ
1. ข้อใดเป็นความหมายของเงิน

    ก. เงินเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับว่าเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ
    ข. เงินเป็นสิ่งที่แสดงความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของระบบเศรษฐกิจหนึ่ง ๆ
    ค. เงินเป็นสิ่งที่ใช้เป็นมาตรฐานในการชำระหนี้ระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้
    ง. เงินเป็นสิ่งที่มีสภาพคล่องสูงกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ
2. ข้อใดแสดงว่าเกิดภาวะเงินเฟ้อในประเทศไทย
    ก. รายได้เฉลี่ยต่อหัว               ข. อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น
    ค. ดัชนีราคาสินค้าสูงขึ้น         ง. ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น
3. มาตรการในข้อใดแก้ปัญหาเงินเฟ้อ
    ก. บดรายจ่ายของรัฐบาล        ข. ลดอัตราดอกเบี้ย
    ค. ลดอัตราภาษี                      ง. ลดอัตราการนำเข้าสินค้า
4. บทบาทหน้าที่ของ “ธนาคารประเทศไทย” ข้อใดสำคัญมากที่สุด
    ก. ควบคุมธนาคารพาณิชย์     ข. เป็นนายธนาคารของรัฐบาล
    ค. พิมพ์ธนบัตร                        ง. รักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ
5. ข้อใดไม่ใช่หน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย
    ก. รักษาทุนสำรองของประเทศ   ข. ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ
    ค. พิมพ์ธนบัตร                            ง. รับฝากเงินจากประชาชน
6. ความสำคัญของธนาคารพาณิชย์ที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันคือข้อใด
    ก. มีกิจการสาขาให้บริการอย่างกว้างขวางทั่วราชาอาณาจักร
    ข. สถาบันออมทรัพย์และแหล่งเงินกู้ที่ใหญ่ที่สุดของประชาชน
    ค. แก้ไขปัญหาคนว่างงานของประเทศโดยตรง
    ง. กำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เป็นธรรมแก่ประชาชน
7. ในชีวิตประจำวัน เงินทำหน้าที่ข้อใดมากที่สุด
    ก. เป็นเครื่องวัดมูลค่าและเป็นเครื่องรักษามูลค่า
    ข. เป็นเครื่องรักษามูลค่าและแสดงความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ
    ค. เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและเป็นเครื่องวัดมูลค่า
    ง. เป็นมาตรฐานการชำระหนี้ในอนาคตและเป็นเครื่องวัดมูลค่า
8. เมื่อพิจารณาถึงประเภทของสถาบันการเงินต่างๆดังต่อไปนี้ ข้อใดแตกต่างจากสถาบันอื่น ๆ มากที่สุด
    ก. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
    ข. ธนาคารอาคารสงเคราะห์
    ค. บริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์
    ง. ธนาคารออมสิน
9. สถาบันการเงินข้อใด อยู่ในความรับผิดชอบของพระทรวงพาณิชย์ นับตั้งแต่การให้ใบอนุญาตและ    ควบคุมการดำเนินงานมิให้เอาเปรียบประชาชน
    ก. โรงรับจำนำ
    ข. บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
    ค. บริษัทประกันภัย
    ง. บริษัทเครดิตฟองซิเอร์
10. รายการข้อใดไม่รวมอยู่ในหนี้สาธารณะ
    ก. เงินกู้ยืมธนาคารออมสินของรัฐบาล
    ข. เงินกู้ยืมต่างประเทศของภาคเอกชน
    ค. เงินที่เกิดจากการนำ พันธบัตรรัฐบาลออกขายแก่ประชาชน
    ง. เงินกู้ของรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลค้ำประกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น